• aroundram.com › นักศึกษาต้องรู้
การเลือกวิชาและวางแผนการลงทะเบียนเรียน(นักศึกษาส่วนกลาง)

ทุกคนคงจำได้ว่า ตอนที่เราสมัครเรียนในเทอมแรก มหาวิทยาลัยนั้นมีการแนะนำวิชาที่จะให้เราลงทะเบียนเรียนให้เรียบร้อยเลย เราแทบจะไม่ต้องวางแผนเองเลย แต่พอถึงเทอมต่อๆไป นักศึกษาทุกคนจำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนด้วยตัวเองกันแล้ว แต่จะมีวิธียังไง เรามีคำแนะนำมาฝากกัน วิธีนี้ใช้ได้ทั้งนักศึกษา ป.ตรี (ภาคปกติ) และนักศึกษาพรีดีกรี(Pre-degree)

...บทความนี้ค่อนข้างยาว มีหลายองค์ประกอบ ขอให้ค่อยๆอ่าน ทำความเข้าใจไปทีละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 0 เลยนะ...

ลงทะเบียนเรียนได้กี่วิชา…

  • นักศึกษารหัส 60, 61, 62, … เป็นต้นไป
    ภาคเรียนที่ 1 ลงทะเบียนเรียนได้ 9-22 หน่วยกิต
    ภาคเรียนที่ 2 ลงทะเบียนเรียนได้ 9-22 หน่วยกิต
    ภาคฤดูร้อน ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิต
  • นักศึกษารหัส 55-59
    ภาคเรียนที่ 1 ลงทะเบียนเรียนได้ 1-24 หน่วยกิต
    ภาคเรียนที่ 2 ลงทะเบียนเรียนได้ 1-24 หน่วยกิต
    ภาคฤดูร้อน ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 12 หน่วยกิต
    *นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์(หลักสูตร 5ปี) ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 22หน่วยกิต

ขั้นตอนที่ 0 : เตรียมสิ่งที่ต้องใช้

  • [A] : แผนกำหนดการศึกษาชั้นปริญญาตรี หรือ โครงสร้างหลักสูตร หรือ แผนการเรียน เรียกได้เหมือนกัน มันจะบอกว่า เราจะต้องเรียนสะสมหน่วยกิตวิชาใดบ้างจึงจะจบปริญญาตรี ซึ่งเราสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยตามรหัสของปีหลักสูตร ค้นหาใน Google ก็ได้ด้วยคำว่า “โครงสร้างหลักสูตร ราม” หรือคลิกไปดาวน์โหลดได้ที่
    –> ไปหน้าดาวน์โหลด <–
  • [B] : ตาราง ม.ร.30 ของภาคเรียนนี้
    ตารางเรียนนี้จะบอกว่าในเทอมนี้ มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาอะไรบ้าง มันจะมีรหัสวิชา ชื่อวิชา อาจารย์ผู้สอน ห้องที่ใช้เรียน เวลาเรียน และที่สำคัญบอกเวลาสอบด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยจะประกาศ ตาราง ม.ร.30 ให้ทราบก่อนถึงกำหนดลงทะเบียนเรียนเป็นประจำทุกภาคการศึกษา
    🧾🧾ดูออนไลน์ได้ที่ –> คลิกเล้ยยย <–
  • [C] : ข้อมูลการลงทะเบียนเรียนภาคเรียนที่ผ่านมาเพื่อให้วางแผนการลงทะเบียนเรียนได้ถูกต้องและไม่ซ้ำซ้อนกัน เราควรทราบว่าในภาคเรียนที่ผ่านๆ มาเคยลงทะเบียนเรียนวิชาอะไรไปแล้วบ้าง โดยดูได้จาก เช่น ใบเสร็จลงทะเบียนเรียนภาคเรียนที่ผ่านมา, ใบเช็คเกรด ซึ่งสามารถดูได้จากระบบ e-Service

ขั้นตอนที่ 1 : เอา [A] แผนการเรียน มากาง

แผนการเรียนนี้เป็นตัวแนะนำว่าในแต่ละภาคเรียน เราควรจะลงทะเบียนเรียนวิชาใดบ้างตลอดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามหลักสูตร (ภาพตัวอย่างนี้เป็นหลักสูตร 4 ปี จึงมีแผนการเรียน 4 ปี มี 132 หน่วยกิต)

[A] ตัวอย่างแผนการเรียน(การจัดการ, บริหารธุรกิจ)

Freshman Year หมายถึง ชั้นปีที่ 1
Sophomore Year หมายถึง ชั้นปีที่ 2
Junior Year หมายถึง ชั้นปีที่ 3
Senior Year หมายถึง ชั้นปีที่ 3
First Semester หมายถึง ภาคเรียนที่ 1 ของปีนั้นๆ
Second Semester หมายถึง ภาคเรียนที่ 2 ของปีนั้นๆ
Total for 4 years หมายถึง หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 4 ปี

...เอาล่ะ น้องๆนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งลงทะเบียนเรียนด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ลองมองไป[A] แผนการเรียนของตัวเอง ลองมองดูว่าเทอมที่เรากำลังจะลงทะเบียนเรียนนี้ มันแนะนำให้เราลงทะเบียนวิชาอะไรบ้าง นอกจากนี้ให้ดูว่าเทอมที่ผ่านมาเราลงทะเบียนเรียนวิชาอะไรไปแล้วบ้าง(ดูได้จากใบเสร็จ หรือใบเช็คเกรด), วิชาไหนสอบผ่านแล้วก็ไม่ต้องลงซ้ำอีก, วิชาไหนที่รอผลสอบอยู่ก็ไม่ต้องลงทะเบียนเรียนในเทอมนี้, ส่วนวิชาไหนยังไม่เคยลงทะเบียนเรียนเลยและน่าสนใจก็ลองจดวิชานั้น ๆ ใส่กระดาษเอาไว้ ลองเลือกมาสัก 9 - 22 หน่วยกิตนะ

สมมติว่า เลือกมาได้ 3 วิชา คือ...
ACC1102 (3หน่วยกิต)
ECT1101 (3หน่วยกิต)
LAW1003 (3หน่วยกิต)

⚠️ แต่เดี๋ยวก่อน...เราจะเอาวิชานี้พวกนี้ไปลงทะเบียนเรียนทันทีไม่ได้นะ
เพราะเราจะต้องตรวจสอบก่อนว่า วิชาเหล่านี้เรียนในวัน/เวลาใด และที่สำคัญวิชาเหล่านั้นไม่ควรมีวัน/เวลาสอบเดียวกัน เพราะเราแยกร่างไปสอบ 2 วิชาในเวลาเดียวกันไม่ได้ โดยตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ที่... "ตารางเรียน ม.ร.30"

ขั้นตอนที่ 2 : เอา [B] ตาราง ม.ร.30 มากาง

ภาพต่อไปนี้คือ “ตาราง ม.ร.30 ของภาคเรียนที่ 2/2562” มันจะบอกว่าภาคเรียนนี้มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาอะไรบ้าง เรียนวันไหน เมื่อไหร่ ห้องไหน ใครสอน และบอกเวลาสอบด้วย ให้เราดาวน์โหลด ตาราง ม.ร.30 ของภาคเรียนที่จะลงทะเบียนเรียนมาดูนะ

[B] ตัวอย่างตาราง ม.ร.30 ส่วนกลาง

อธิบายวิธีดูตาราง ม.ร. 30 (ในกรอบเส้นประสีแดง โดยใช้ตัวอย่างวิชา ACC1102) ดังนี้…

  • ตัวหนังสือ สีชมพู หมายถึง (รหัสวิชา)+ (จำนวนหน่วยกิต)
  • ตัวหนังสือ สีน้ำตาล หมายถึง (รหัสวิชาเก่า)+(ชื่อกระบวนวิชาภาษาอังกฤษ)
  • ตัวหนังสือ สีฟ้า หมายถึง (วันเรียน)(เวลาเรียน) TU=Tuesday (วันอังคาร) เวลา 8.30 – 11.00 น.
  • ตัวหนังสือ สีเขียว หมายถึง (อาคารเรียน)+(ห้องเรียน) KTB201 = อาคารคนที ห้อง 201
  • ตัวหนังสือ สีดำ หมายถึง (ชื่ออาจารย์ผู้สอน)
  • ตัวหนังสือ สีแดง หมายถึง วันเวลาสอบ (วัน)(วันที่)(เดือน)(ปีค.ศ.)(คาบสอบ A/B)
    ซึ่ง TU 03 MAR. 2020 B อธิบายได้ ดังนี้
    TU = Tuesday (วันอังคาร)
    03 = วันที่ 3
    MAR. = March (มีนาคม)
    2020 = ปี ค.ศ.2020 (หรือ พ.ศ.2563)
    อักษร B หมายถึง คาบเวลาสอบบ่าย (14.00-16.30น.)
    แต่ถ้าเป็นอักษร A หมายถึง คาบสอบเวลาเช้า(9.30-12.00น.)
  • ในภาคฤดูร้อน จะมีการปรับวันเรียน โดยวิชาหนึ่งๆ จะเรียน 3 ครั้งสัปดาห์(วันเว้นวัน) บางวิชาจะเรียนเฉพาะวัน จันทร์/พุธ/ศุกร์ = MWF และบางวิชาจะเรียนเฉพาะ อังคาร/พฤหัสบดี/เสาร์ = TTS
...เมื่อทราบวิชาดูตาราง ม.ร.30 แล้ว ให้นำวิชาที่เราเลือกเอาไว้ มาเทียบกับตาราง ม.ร.30 โดยให้ทำแบบนี้ครบทุกวิชาที่เราวางแผนจะเรียนในเทอมนี้ อย่าให้วิชาเวลาสอบตรงกันแค่นี้ก็ได้วิชาที่จะลงทะเบียนเรียนแล้ว ลองเขียนตารางเรียนและใส่รายละเอียดไว้ให้ครบถ้วน ลองทำตารางเรียนเหมือนในภาพด้านล่างนี้ก็ได้นะ (ตารางตัวอย่าง)...
...เมื่อลองใส่ข้อมูลแล้ว ก็จะได้ประมาณนี้(ภาพด้านล่าง) ต่อไปก็รอลงทะเบียนเรียนตามกำหนดการในปฏิทินการศึกษาได้เลย แถมยังใช้ตารางนี้เป็นตารางเรียนส่วนตัวของเราก็ได้นะ...

แล้วลงทะเบียนเรียนเมื่อไหร่/ช่องทางไหนบ้าง ?

ทุกๆคน สามารถทราบกำหนดการลงทะเบียนเรียน และกำหนดการสำคัญๆ เช่น การสอบ การเพิ่ม-ถอนวิชา ได้จากปฏิทินการศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือดูผ่านเว็บไซต์รอบรั้วรามฯ คลิก โดยช่องทางการลงทะเบียนเรียนในปัจจุบันมี 3 ช่องทางคือ เว็บไซต์มหาวิทยาลัย www.iregis2.ru.ac.th , แอปพลิเคชัน RU-Regis และการลงทะเบียนเรียนทางไปรษณีย์ (ปัจจุบันงดการลงทะเบียนเรียนด้วยตนเองที่มหาวิทยาลัยเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) ซึ่งในแต่ละช่องทางมีกำหนดบอกไว้ในปฏิทินการศึกษาแล้ว(ดังภาพต่อไปนี้)

ปฏิทินการศึกษาจะมีหน้าตาแบบนี้

แอปพลิเคชันสำหรับลงทะเบียนเรียน(ส่วนกลาง)


[yop_poll id=”1″]